
การผ่าตัดศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเล็กหรือใหญ่ก็ย่อมมีความเสี่ยงหลายปัจจัย ได้แก่ ความเสี่ยงจากการผ่าตัด ความเสี่ยงจากการให้ยาระงับความรู้สึก และ ความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนในคนไข้ที่มีโรคประจำตัว โดยความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ และโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และอื่น ๆ ย่อมมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่แข็งแรง แล้วในทางการแพทย์ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ควรผ่าตัดทำศัลยกรรมได้หรือไม่ คำตอบอยู่ในบทความนี้ค่ะ
รู้จักโรคประจำตัวก่อนการทำศัลยกรรม

โรคประจำตัวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 โรคที่รักษาหายได้ เช่น เป็นหวัด แผลติดเชื้อ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ควรจะรักษาให้หายก่อนแล้วค่อยมาทำศัลยกรรมความงาม
กลุ่มที่ 2 โรคที่รักษาไม่หายหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือโรคหัวใจ หากรักษาไม่หายขาด ก็ควรจะคุมให้อยู่ในระดับปกติก่อนผ่าตัด เช่น โรคเบาหวานก็ควรจะคุมน้ำตาลให้ดี โรคความดันก็ควรทานยาความดันให้ครบ จนความดันอยู่ระดับปกติ การทำศัลยกรรมความงามก็ไม่ได้มีผลแทรกซ้อนอะไรที่มากกว่าคนทั่วไป
วิสัญญีแพทย์ดูแลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างไร

เมื่อได้รับการวางแผนที่จะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์ผ่าตัดจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น เพื่อประเมินความแข็งแรงของร่างกาย รวมทั้งโรคประจำตัวหรือความผิดปกติก่อนผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะร่วมประเมิน เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่วงการผ่าตัดให้น้อยที่สุด นอกจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะเตรียมความพร้อมให้คนไข้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยวิสัญญีแพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วางแผนการดูแลเพื่อควบคุมความรุนแรงของโรคประจำตัว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อช่วยลดความกังวล ตรวจสอบยาที่ใช้รักษาหรือควบคุมโรคประจำตัว ให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ต้องงดก่อนผ่าตัดและรับประทานต่อเนื่องจนถึงวันผ่าตัด
ซึ่งระหว่างการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์จะทำหน้าที่ในการระงับความเจ็บปวดของคนไข้ ทำให้คนไข้ผ่อนคลายได้รับความปลอดภัยตลอดการผ่าตัด โดยจะควบคุมการให้ยาชา และยาสลบ คอยเฝ้าสังเกตความดันโลหิตของคนไข้ระหว่างผ่าตัด ภาวะช็อค ดูแลออกซิเจน หรือสัญญาณชีพอื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติและเป็นอันตรายต่อคนไข้ได้ และคอยแก้ไขสถานการณ์คับขันเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น รวมทั้งคอยดูแลคนไข้ในช่วงหลังการผ่าตัดที่ต้องทำการพักฟื้นอีกด้วย
โดยสรุปแล้วคนไข้ที่มีโรคประจำตัวสามารถทำการผ่าตัดศัลยกรรมได้ โดยจะต้องได้รับการประเมินเบื้องต้นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคนไข้จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งก่อนการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการทำศัลยกรรม และที่สำคัญต้องเลือกทำศัลยกรรมในสถานที่ที่ได้มาตรฐานผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทาง โดยในการผ่าตัดจะต้องมีวิสัญญีแพทย์คอยดูแลตลอดการผ่าตัด หากมีคำถามหรือข้อสงสัยสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญของ Q central ได้ตลอด 24 ชั่วโมง คลิกที่นี่
You must be logged in to post a comment.