ระยะการฟื้นตัวของแผลผ่าตัดศัลยกรรม

ระยะการฟื้นตัวของแผล
กระบวนการฟื้นตัวของแผลผ่าตัดสามารถแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้
ระยะพักฟื้น
กระบวนการสมานแผลเริ่มขึ้นทันทีหลังการผ่าตัด เส้นเลือดบริเวณแผลจะสร้างลิ่มเลือดเพื่อช่วยหยุดการสูญเสียเลือด เม็ดเลือดขาวจะเริ่มกระบวนการต่อสู้กับเชื้อโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในระยะนี้แผลจะมีลักษณะบวมแดง คนไข้อาจยังรู้สึกเจ็บบริเวณโดยรอบ หากมีอาการหนองไหลหรือรู้สึกเจ็บรุนแรงขึ้น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ระยะสร้างเซลล์ใหม่
ระยะหลังการผ่าตัด 4 สัปดาห์ แผลผ่าตัดเริ่มสมานตัวเข้าด้วยกัน ผิวหนังบริเวณแผลหนาขึ้น มีอาการเจ็บแปลบไม่รุนแรง หรือปวดหน่วง ๆ เท่านั้น ระยะนี้แผลจะเริ่มค่อยๆแห้งสนิทดีแล้ว คนไข้ควรเว้นระยะห่างในการทำแผลมากขึ้น กว่าในช่วงแรกเพื่อไม่ให้แผลเกิดการอับชื้น อาจจะเปลี่ยนมาใช้แผ่นซิลิโคนที่ช่วยลดรอยนูนของแผลคีลอยด์ร่วมด้วย
ระยะปรับตัว
ระยะที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือน -2 ปี หลังผ่าตัด แผลจะสมานตัวจนสนิทดีและเกิดแผลเป็น อาจมีสีแดงหรือมีสีซีดกว่าผิวหนังบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับการดูแลแผลของคนไข้ ซึ่งในช่วง 2 เดือนขึ้นไป คนไข้สามารถใช้ยาลดรอยแผลเป็น หรือ เลเซอร์ช่วยในการลดรอยแผลได้เช่นเดียวกัน
วิธีสังเกตอาการแผลติดเชื้อ

อาการแผลติดเชื้อสามารถสังเกตได้ทั้งภายในและภายนอกบริเวณบาดแผล โดยอาการหลักๆที่ชัดเจนคือคนไข้จะมีอาการไข้สูง 38 องศาเซลเซียส บริเวณแผลมีหนองข้น สีน้ำตาล สีเขียว หรือเหลือง ไหลออกมาจากแผลแผลดูกว้างและลึกขึ้น แผลแห้งขาดความชุ่มชื้นและเปลี่ยนเป็นสีเข้มมีอาการเจ็บแผลรุนแรงขึ้น แผลหายช้า หากเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวคนไข้ควรไปพบแพทย์โดยด่วน

วิธีป้องกันแผลติดเชื้อ
หากแผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้ออาจส่งผลให้เกิดแผลเป็นนูน แผลคีลอยด์ หรือส่งผลเสียถึงผลลัพธ์การศัลยกรรมได้ ซึ่งวิธีป้องกันแผลติดเชื้อเบื้องต้น มีดังนี้
- งดทานอาหารประเภทหมักดอง และอาหารสุกๆดิบๆ
- งดอาหารทะเล
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ
- หลังการผ่าตัดในระยะแรกไม่ควรแกะพลาสเตอร์ออกเองหรือทำแผลด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอุปกรณ์ทำแผล หรือ จากการหยิบจับสัมผัสสิ่งของต่างๆ
- ทำตามคำแนะนำของแพทย์ และ ไปตามนัดของแพทย์ทุกครั้งเพื่อตรวจดูอาการ